โรคซึมเศร้า
ปัจจุบันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศไหน อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไรรวมหรือจน ทุกคนสามารถที่จะมีการเข้าถึงโลกออนไลน์เป็นของตนเองได้ทั้งหมด โซเชียลมีเดียก็มีความสามารถและประโยชน์หลากหลายอย่าง ทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้หรือความสามารถที่เป็นแหล่งผ่อนคลาย คลายเครียด แถมยังสามารถบ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิตของตัวเองได้อีกด้วย
สัญญาณ “ซึมเศร้า” จากวิธีโพสต์บนโลกออนไลน์
– พูดตัวเอง มากกว่าพูดถึงคนอื่น
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีโอกาสสูงที่จะชีวิตตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือถึงจะมีก็ไม่คิดอยากจะระลึกถึง ไม่มีแก่ใจจะพูดถึงคนเหล่านั้นมากนัก แต่ละโพสต์จึงมักจะเป็นเรื่องของตัวเอง เล่าเรื่องตัวเอง หรือพูดถึงความรู้สึกของตัวเองเสียส่วนใหญ่
– วิสัยทัศน์ต่อเรื่องต่างๆ
ผู้ป่วยซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะมองเรื่องราวต่างๆ เป็นผิด/ถูก โดยสิ้นเชิง จะไม่ค่อยมีความเห็นในลักษณะกลางๆ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้เท่าที่ควร ดังนั้นเราอาจจะเห็นความคิดเห็นประเภท “ผู้หญิงสวยมักหยิ่ง” หรือ “คนรวยไม่มีวันเข้าใจคนจน” จากพวกเขาได้ นอกจากนี้พวกเขาอาจจะอารมณ์อ่อนไหวง่ายกับเรื่องต่างๆ มากขึ้นด้วย เช่น อ่านข่าวเศร้าก็เศร้าตามจนร้องไห้ ดูหนังฟังเพลงก็อินจัด เป็นต้น
– เริ่มใช้คำที่แสดงถึงความเจ็บปวด เหงา หาทางออกไม่ได้
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความเจ็บปวดที่อธิบายไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในสมองมีแต่ความคิดด้านลบ ดังนั้นแม้หลายคนจะพยายามปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่คนเหล่านี้มักหาทางระบายความคิด และปัญหาของตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คำในแง่ลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เหงา” “โดดเดี่ยว” “ตัวคนเดียว” “ไม่มีใคร” หรือความรู้สึกเจ็บปวดอย่าง “ทรมาน” “ไม่ไหว” “ไม่อยากทน” และความเสียใจที่หาทางออกให้กับปัญหานี้ไม่ได้ จนอาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมตัวเองถึงรู้สึกเช่นนี้ ทำไมหยุดความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ เมื่อไรความคิดแย่ๆ จะหายไปเสียที จนอาจเลยเถิดไปถึงคำพูดที่ว่า ตัวเองหายไป ไม่อยู่บนโลกแห่งนี้แล้วคงจะดี ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงอาจใช้ช่องทางของโซเชียลมีเดียในการเผยความรู้สึกลึกๆ ของตัวเองออกไปบ้าง
– เลือกแต่เพลง/หนัง/คำเศร้าๆ
บางคนเลือกที่จะใช้อย่างอื่นแสดงอารมณ์ และความรู้สึกของตัวเองออกมา แทนการพิมพ์เป็นคำๆ ด้วยตัวเอง โดยอาจจะเลือกเพลง ภาพยนตร์ หรือยกคำพูดของคนอื่นที่แสดงความรู้สึกของตัวเองได้ดีออกมารูปแบบของการ “แชร์” โพสต์ของคนอื่น หรือโพสต์เพลง/ภาพ ที่แสดงถึงความเศร้า เสียใจ ทุกข์ทรมาน อยากหนีไปให้ไกลจากความทุกข์ที่ตัวเองกำลังเจอ เป็นต้น
– โยนหินถามทาง
หลายครั้งด้วยความที่ผู้ป่วยซึมเศร้าเกิดความทุกข์ในใจ แล้วอยากหนีไปให้ไกลจากความรู้สึกนี้ แต่ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร ต้องเริ่มตรงไหน พวกเขาอาจใช้ช่องทางโซเชียลในการโยนคำถามลงไปว่า “ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร/จะรู้สึกอย่างไร” เป็นการแสดงด้านที่ไม่มั่นใจในตัวเองของเขาเหล่านั้นออกมา
– โพสต์ถึงข้อดีของการจากลา
สุดท้าย ถ้าถึงช่วงที่ผู้ป่วยซึมเศร้าตัดสินใจที่จะลาโลกไปแล้ว อาจจะเริ่มโพสต์บอกลากลายๆ โพสต์ถึงคนรอบข้างว่าหากเขาไม่อยู่ให้ดูแลตัวเองดีๆ เริ่มมอบหมายเรื่องนู้นนี้ให้คนใกล้ชิดดูแลต่อ หรือพูดถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาไม่อยู่ เช่น หากพวกเขาไม่อยู่ ครอบครัวก็จะมีเงินมากขึ้น ไม่ต้องคอยส่งเสียพวกเขาแล้ว คนใกล้ชิดไม่ต้องคอยมาดูแล คนนั้นคนโน้นไม่ต้องทำอะไรเพื่อเขาอีกต่อไป รวมไปถึงการบอกตัวเองว่าตัวเองทำถูกแล้ว ทำดีแล้ว เป็นต้น
เป็นการสังเกตุคนรอบข้างหรือคนที่เรารักแบบง่าย ๆ ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าหรือไม่ และเมื่อถ้าเราเห็นสัญญาณเตือนนั้นแล้ว เราก็ควรดูแลเขาอย่างใก้ลชิดและยื่นมือเพื่อเข้าไปช่วย และเราจะไม่ปล่อยให้เขาคิดว่าเขาไม่เหลือใครเด็ดขาดอยู่ข้างกันเพื่อคอยช่วยเหลือกัน♥
หากพบว่าตัวเอง หรือคนรอบข้างมีสัญญาณโรคซึมเศร้า
สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : Kapook